![](http://www.en-technology.com/wp-content/uploads/2019/10/1587623894_Waste.jpg)
ขยะแบบไหนที่ต้องยื่นขออนุญาตกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม
ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมเรื่อง การกำจัดสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว พ.ศ. 2548 กำหนดว่า
การจัดการสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว คือ การบำบัด ทำลายฤทธิ์ ทิ้ง กำจัดจำหน่ายจ่ายแจก แลกเปลี่ยน หรือนำกลับไปใช้ประโยชน์ใหม่ในรูปแบบต่างๆ รวมถึงการกักเก็บไว้เพื่อทำการดังกล่าว
ผู้ก่อกำเนิดสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว คือ ผู้ประกอบกิจการโรงงานที่ก่อให้เกิดและมีสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วไว้ในครอบครอง
ผู้รวบรวมและขนส่ง คือ ผู้มีสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วไว้ในครอบครองเพื่อ การขนส่ง และผู้มีไว้ในครอบครองสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วในสถานที่เก็บ รวบรวม หรือขนถ่ายสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว ตามประกาศกระทรวง อุตสาหกรรม เรื่อง ระบบเอกสารกำกับการขนส่งของเสียอันตราย
ผู้บำบัดและกำจัดสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุไม่ใช้แล้ว คือ ผู้ประกอบกิจการโรงงานที่มีสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุไม่ใช้แล้วไว้ในครอบครอง ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรือง ระบบเอกสารกำกับการขนส่งของเสียอันตราย พ.ศ. 2547 และโรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับการคัดแยกหรือฝังกลบสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วตามประเภทหรือชนิดของโรงงานลำดับที่ 105
สรุปคือ สิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วทุกประเภทจากโรงงาน ที่เข้าข่ายเป็นโรงงานตาม พระบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 หากมีการนำออกนอกสถานประกอบการ ต้องมีการขออนุญาตนำสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วออกนอกบริเวณโรงงาน (สก.2) กับกรมโรงงานอุตสาหกรรมก่อนทุกครั้ง
ยกเว้น
1. สิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วที่ไม่เป็นของเสียอันตรายจากสำนักงาน บ้านพักอาศัยและโรงอาหารในบริเวณโรงงาน
2. กากกัมมันตรังสี
3. มูลฝอยตาม พรบ. สาธารณสุข
4. น้ำเสียที่ส่งไปบำบัดนอกโรงงานทางท่อส่ง
โดยหากมีการนำสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วออกนอกบริเวณโรงงาน โดยไม่ได้รับอนุญาตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม จะถูกปรับไม่เกิน 200,000 บาทต่อครั้งหรือปิดปรับปรุงสถานประกอบการตามดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่